พ.ศ. 2421
พ.ศ. 2431
พ.ศ. 2443
พ.ศ. 2455
พ.ศ. 2474
พ.ศ. 2507
พ.ศ. 2537
พ.ศ. 2539
พ.ศ. 2560
พ.ศ. 2562
พ.ศ. 2562
พ.ศ. 2562
พ.ศ. 2565
บี.กริม ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี มายาวนานกว่า 145 ปี จนเป็นองค์กรด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการสาธารณะสุขที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจหลากหลายประเภท ทั้งในด้านพลังงาน อุตสาหกรรม สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ คมนาคม และอสังหาริมทรัพย์
เริ่มต้นบุกเบิก
ในปี พ.ศ. 2421 หรือ ค.ศ. 1878 เภสัชกรชาวเยอรมัน แบร์นฮาร์ด กริม และหุ้นส่วนชาวออสเตรีย แอร์วิน มุลเลอร์ ได้เดินทางมายังประเทศไทยและก่อตั้งห้างจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์ขึ้น ที่ซอยโรงแรมโอเรียนเต็ล บนถนนเจริญกรุง ชื่อว่า สยามดิสเป็นซารี่ เป็นร้านปรุงยาตำรับตะวันตกแห่งแรกในสยาม ด้วยความรู้ความสามารถและความชำนาญในวิชาชีพของบุคคลทั้งสอง จึงทำให้เป็นที่รู้จักและได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ร้านยาหลวง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และในช่วงเวลาเดียวกัน บี.กริม ได้ร่วมมือกับตระกูลสนิทวงศ์ในการขุดคลองรังสิต ความยาว 1,500 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ขณะนั้น
เติบโต ขยายกิจการอันหลากหลาย
ในปี พ.ศ. 2446 หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับจากประพาสยุโรป พระองค์ทรงนำความเจริญด้านต่างๆจากยุโรปเข้ามาพัฒนาประเทศไทย ณ ขณะนั้น ห้างสยามดิสเป็นซารี่ ได้รับ อดอล์ฟ ลิงค์ เภสัชกรชาวเยอรมัน ผู้มีความมุ่งมั่นแข็งขันเข้ามาร่วมงาน ซึ่งช่วยให้กิจการของ บี.กริม ขยายไปยังธุรกิจที่หลากหลายและเติบโตยิ่งขึ้น
สงครามโลก ยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
ในปี พ.ศ 2460 ขณะที่ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นนั้น สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ปะทุขึ้น คนเยอรมันตกเป็นเชลยของรัฐบาลอังกฤษ ทำให้บริษัท บี.กริม ซึ่งเป็นบริษัทของคนเยอรมันตกอยู่ในสถานะลำบาก อดอล์ฟ ลิงค์และภรรยา เออร์น่า พร้อมทั้งบุตรชายทั้งสองคือ เฮอร์เบิร์ต และ ดร. เกฮาร์ด ถูกส่งไปค่ายกักกันในประเทศอินเดีย อย่างไรก็ตาม ครอบครัวลิงค์ ยังคงเชื่อมั่นว่าคนไทยเข้าใจความตั้งใจอันดีในการดำเนินธุรกิจและยังให้โอกาสในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยต่อ
เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2463 ครอบครัวลิงค์ จึงกลับมากรุงเทพมหานคร เพื่อจะดำเนินกิจการของ บี.กริม และยังคงถวายงานรับใช้พระบรมวงศานุวงศ์อย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์อันแนบแน่นนี้จะเห็นได้จากการที่พระเจ้าบรมวงษ์เธอเจ้าฟ้าภานุรังษี ประทานพระอนุญาตให้บริษัท บี.กริม ตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ในเขตวังบูรพา โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานใหม่ของบี.กริม
ในปี พ.ศ 2482 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อดอล์ฟ ลิงค์ ได้เดินทางกลับไปเยอรมนี เพื่อไปดูแลห้างที่ฮัมบูรก์ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ ให้เป็น กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเมืองฮัมบูร์ก
บุกเบิก ริเริ่ม อีกครั้ง
อดอล์ฟ ลิงค์ กลับมาเปิดบริษัทขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2492 โดยมีเฮอร์เบิร์ต ลิงค์เข้ามาดูแลกิจการ ในขณะที่พี่ชายซึ่งเป็นหุ้นส่วนยังคงอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเพื่อขยายกิจการของ บี.กริม ในทวีปยุโรป ต่อมา ในปี พ.ศ. 2496 เกฮาร์ด ลิงค์ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์และกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ประจำเมืองฮัมบูร์ก
ในทศวรรษต่อมา สองพี่น้องตระกูลลิงค์ได้ขยายกิจการออกไปอีก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 เริ่มเพิ่มแผนกที่ดูแลด้านวิศวกรรม อุปกรณ์การแพทย์ การผลิตไฟฟ้า โทรคมนาคม เครื่องปรับอากาศและ วิศวกรรมเครื่องกล ในปี พ.ศ. 2510 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จเปิดอาคารสำนักงานใหม่และโกดังของบริษัทบนถนน เพชรบุรีตัดใหม่
และต่อมาในปี พ.ศ. 2518 คุณหญิง อัลม่า ลิงค์ ภรรยาของ เฮอร์เบิร์ต ลิงค์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคุณหญิง โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงตระหนักถึงความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยของคุณหญิงอัลม่า ลิงค์ ในการทำงานเพื่อการกุศลต่างๆด้วยจิตใจโอบอ้อมอารีมาโดยตลอด คุณหญิงอัลม่า ลิงค์ ถือเป็นสตรีต่างชาติคนแรกที่ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งอันสูงส่งดังกล่าว
ก้าวไปข้างหน้า และร่วมพัฒนาสังคมโลกอย่างยั่งยืน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา บริษัท บี.กริม ภายใต้การบริหารของ ฮาราลด์ ลิงค์ บุตรชายของ ดร. เกฮาร์ด ลิงค์ เดินหน้าขยายกิจการไปสู่ธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ พร้อมยังมุ่งเน้นการร่วมทุนกับบริษัทชื่อดังของโลกอีกหลายแห่ง ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ฮาราลด์ ลิงค์ เริ่มเข้ามาช่วยคุณลุงเฮอร์เบิร์ต ดูแลกิจการในประเทศไทย ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ถึงแม้ว่าจะเติบโตที่ประเทศเยอรมนี แต่นายฮาราลด์ ก็มีความตั้งใจที่จะสืบทอดกิจการ บี.กริม และอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย
เมื่อโลกได้เข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์ ระบบโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่างในประเทศไทยอยู่ในระหว่างกำลังพัฒนา บริษัทจึงขยายตัวเข้าไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ ซึ่ง บี.กริม ได้ร่วมทุนกับหลายบริษัท โดยทำหน้าที่ผู้จัดจำหน่าย เช่น Carrier, Siemens, Merck, Zeiss, Maquet, KSB, Urgo และ MBM และเป็นผู้ผลิตรถยนต์สามล้อยี่ห้อ Monika บริษัทได้สร้างโรงงานขึ้นใหม่อีกหลายแห่งและได้ก่อตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2538 หลังจากนั้นบริษัท บี.กริม ก็ได้ขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจด้านพลังงาน การผลิตไบโอดีเซล และธุรกิจด้านไลฟ์สไตล์ และได้เปิดดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งแรก ขึ้นในปี พ.ศ. 2541
และในปี พ.ศ. 2551 คาโรลีน ลิงค์ บุตรสาวของ ฮาราลด์ ลิงค์ ได้เข้ามาฝึกฝนการบริหารกิจการของครอบครัว โดยมีความมุ่งมั่นที่จะนำพา บี.กริม สู่บริษัทระดับโลก ที่มุ่งพัฒนาธุรกิจหลากหลายด้านรวมถึงคิดค้นนวัตกรรมแห่งอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในยุคดิจิตัล โดยยึดมั่นปรัชญาของ บี.กริม ในการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ